เรียบเรียงโดย: กายแดง
ทุกวันนี้การบินได้กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากในโลกของเรา และหลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าประเทศไทยของเราเองเองก็เคยมีบทบาทในเรื่องนี้ไม่แพ้กัน ในยุคหนึ่งประเทศไทยเคยเป็นหนึ่งในชาติที่สามารถผลิตเครื่องบินรบของตนเองได้อย่างภาคภูมิใจมากกว่า 200 ลำ และมีการผลิตมาหลายรุ่นด้วยกัน อีกทั้งยังเคยใช้ในการทำภาคกิจสงครามจนชนะประเทศมหาอำนาจแห่งยุโรปอย่างฝรั่งเศษในสงครามอินโดจีนมาแล้ว รวมถึงมีวีรกรรมสกัดกั้นกองบินญี่ปุ่นได้อย่างกล้าหาญ แต่ทว่าในปัจจุบันสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเหล่านี้กลับหายไป
ในบทความนี้ไทยอารยะจะขอนำผู้อ่านทุกท่านย้อนเวลาสำรวจประวัติศาสตร์การบินของไทย ไปจนถึงถึงช่วงเวลาที่เรามีความสามารถในการผลิตเครื่องบินรบในประเทศ โดยครั้งนี้ผู้เขียนขออิงตามปีคริสต์ศักราช (ค.ศ.) เป็นหลัก ตามด้วยปีพุทธศักราช (พ.ศ.) เพื่อให้เป็นการสะดวกในการที่ผู้อ่านจะเปรียบเทียบสถานการณ์โลกในช่วงเวลานั้นๆ
สามทหารผู้บุกเบิกการบินไทย
ประวัติศาสตร์การบินไทยเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี 1910 (2453) นายว็อง แด็ง บอร์น (Van Den Born) ชาวเบลเยี่ยม ได้นำเครื่องบินอังรีฟาร์มัง 4 (Henry Farman IV) แบบปีกสองชั้นชื่อ “Wanda” บินจากไซ่งอนมาลงที่สนามม้าสระปทุม (ราชกรีฑาสโมสร) พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และสมเด็จเจ้าฟ้าจักพงษ์ภูวนาถฯ เสนาธิการทหารบกทรงสนพระทัย และได้ทรงทดลองขึ้นบิน ทั้งสองพระองค์ทรงเล็งเห็นเครื่องบินจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านกิจการทหารและพลเรือน จึงได้ส่งนายทหาร 3 นาย ได้แก่ พันตรีหลวงศักดาศัลยาวุธ ร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร และร้อยโททิพย์ เกตุทัตไปเรียนการบินที่ฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาทั้ง 3 ได้รับการยกย่อง ให้เป็น “บุพการีทหารอากาศ”
เครื่องบินไทยทำ
เมื่อนักบินทั้ง 3 กลับไทย กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดตั้งแผนกการบิน และในปี 1913 (2456) ได้มีการสั่งซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ และไทยได้ประกอบเครื่องบินเองเป็นครั้งแรกในปี 1915 (2458) โดยสั่งเครื่องยนต์มา แล้วสร้างปีกกับลำตัวเอง ใบพัดนั้นทำด้วยไม้โมกมัน ให้ชื่อว่า “ขัติยะนารี 1”
ขัติยะนารี 1 เป็นเครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น ถูกใช้เป็นเป็นเครื่องบินฝึกหัดและพยาบาล ทำความเร็วสูงสุดได้ 200-250 กม./ชม. เครื่องยนต์ที่ใช้น่าจะเป็น Rolls-Royce Continental O-200
สถานที่ทดสอบบินที่แรกคือสนามม้าสระปทุม แต่เนื่องด้วยความคับแคบ และมีน้ำท่วมในฤดูฝน จึงได้ย้ายมาอยู่ที่ดอนเมืองจนถึงปัจจุบัน หลังจากย้ายมาอยู่ดอนเมือง จึงได้มีการจัดตั้งกองบินทหารบกขึ้น และสร้างโรงงานประกอบครื่องบินที่นั่น โดยใช้วัสดุในประเทศ และฝีมือช่างไทย เว้นแต่เครื่องยนต์ที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ
ปี 1917 (2460) ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และส่งทหารไปฝึกการบินที่ฝรั่งเศส หลังสงคราม ทหารเหล่านี้ก็กลับมาเป็นครูฝึกซึ่งสร้างนักบินให้กองทัพไทย จนในปี 1927 (2470) นับเป็นครั้งแรกที่ไทยสร้างเครื่องบินที่ออกแบบเองโดยให้ชื่อว่า “บริพัตร” ตามตามพระนามเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์
เครื่องบินทิ้งระเบิดบริพัตรออกแบบโดยพันโทหลวงเวชยันต์รังสฤษฏ์ โครงสร้างทำด้วยด้วยท่อภูราลูแมงและไม้ บุผ้า ใช้เครื่องยนต์จูปิเตอร์ขนาด 400-600 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 253 กม./ชม. นับเป็นเครื่องบินลำแรกที่ออกแบบโดยคนไทย และได้บินไปโชว์ตัวถึงเมืองเดลีในปี 1929 (2472) ตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย และในปี 1930 (2473) ก็ได้บินไปโชว์ที่ไซ่ง่อนตามคำเชิญของรัฐบาลอินโดจีน
หลังการสร้างเครื่องบินบริพัตรได้เพียง 2 ปี คือปี 1929 (2472) ไทยเราก็ได้สร้างเครื่องบินขับไล่ชื่อ “ประชาธิปก” ออกแบบโดยพันโทหลวงเนรมิตไพชยนต์ (เซี้ยง ศุษิลวรณ์) ใช้เครื่องยนต์เคอร์ติส 435 แรงม้า ใช้ชื่อว่า “ประชาธิปก” ตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นเครื่องบินรบแบบที่สองที่ทั้งออกแบบ และสร้างขึ้นโดยคนไทย
กิจการการบินไทยได้เติบโตเรื่อยมา ตั้งแต่ปี 1918 (2461) ที่กองบินทหารบกได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “กรมอากาศยานทหารบก”
ปี 1934 (2477) ไทยได้สั่งเครื่องบินแบบคอร์แซร์ V-93S ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบตรวจการ และทิ้งระเบิดของอเมริกามา 12 เครื่อง จากนั้น 2 ปีต่อมา ในปี 1936 (2479) ก็ได้ขอสิทธิ์มาสร้างเอง โดยซื้อแต่เครื่องยนต์มา และสร้างเองอย่างเป็นล่ำเป็นสันถึง 150 ลำ
เครื่องบินคอร์แซร์ V-93S ดัดแปลงจาก Vought O3U-6 ใช้เครื่องยนต์ Pratt and Whitney S5E-SD Hornet ทำความเร็วสูงสุด 269 กม./ชม. ติดตั้งปืนกล Vickers ได้สูงสุด 4 กระบอก
ในปีเดียวกันนี้ ไทยยังได้สร้างเครื่องบินแบบฮอว์ค 3 (Hawk3) ของอเมริกาขึ้นมาอีก 50 ลำ เป็นเครื่องบินขับไล่สองที่นั่ง ใช้เครื่องยนต์ Wright SR-1820F-53 Cyclone กำลัง 785 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุด 325 กม./ชม. สามารถติดตั้งปืนกลขนาด 7.62 มม. พิสัยการบิน 925 กม.
ในปี 1935 (2478) “กรมอากาศยานทหารบก” ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “กรมทหารอากาศ” และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “กองทัพอากาศ” ในปี 1937 (2480)
การที่ไทยสามารถผลิตเครื่องบินรบใช้เอง รวมถึงจัดตั้งกองทัพอากาศเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชีย และเป็นประเทศแรกในอาเซียน ซึ่งกองทัพอากาศไทยมีเครื่องบินรบมากกว่า 200 ลำ ซึ่งเป็นจำนวนที่จัดว่าเยอะมาก และมีแต่เครื่องบินที่ทันสมัย ทำให้กองทัพไทยเป็นกองทัพที่มีอาณุภาพมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชียในเวลานั้น เป็นรองเพียงแค่ญี่ปุ่น
เครื่องบินไทยใช้
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง 1939-1945 (2482-2488) มีการสู้รบกันระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตร และฝ่ายอักษะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยเราด้วย แน่นอนว่าการป้องกันน่านฟ้า และรักษาอธิปไตยของชาตินั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ช่วงนี้นี่เองที่ทำให้เครื่องบินรบไทยทำได้ออกไปเฉิดฉายโชว์ฝีมือ
อย่างไรก็ตาม เครื่องบินรบไทยที่ได้ไปออกศึกมีเพียงรุ่นคอแซร์ และฮอว์ก 3 เท่านั้น รุ่นก่อนหน้าอย่าง ขัติยะนารี 1 บริพัตร ประชาธิปก เคยแค่บินไปออกโชว์ ฝึกบิน และทำภารกิจอื่นๆ
ปี 1940 (2483) เกิดข้อพิพาทอินโดจีน อันเป็นความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จนถึงขั้นต้องทำสงครามใส่กัน โดยไทยได้ส่งเครื่องคอร์แซร์และฮอล์ค 3 เข้าไปรบในสมรภูมิ นับเป็นสงครามยุทธเวหาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
ส่วนทางฝรั่งเศสก็ได้ส่งเครื่องบินขับไล่โมรัน และเครื่องบินทิ้งระเบิดฟาร์มัง แต่นักบินไทยก็สู้ด้วยหัวใจนักรบเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ จนได้สร้างวีรกรรมให้จดจำกันมากมายในสงครามครั้งนี้
หนึ่งในวีรชนที่คนไทยยุคนั้นรู้จักกันดี ก็คือ “ศานิต นวลมณี” ซึ่งในวันที่ 10 ธันวาคม 1940 (2483) เรืออากากาศโทศานิตได้รับคำสั่งให้โจมตีสนามบินเวียงจันทน์ แม้จะถูกปืนกลจากพื้นดินยิงต่อต้านอย่างหนัก แต่เรืออากากาศโทศานิตก็ได้ฝ่าห่ากระสุนเข้าไปโจมตีเป้าหมายจนสำเร็จ แต่เครื่องบินก็ถูกกระสุนปืนต่อสู้อากาศจนไฟลุกท่วมทำให้นักบินพลปืนหลังได้เสียชีวิต
ส่วนเรืออากากาศโทศานิตได้กระโดดร่มลงในฝั่งไทย แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากถูกไฟคลอกและกระสุนทะลุหัวเข่า และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ด้วยอายุเพียง 23 ปี
17 มกราคม 1941 (2484) ไทยได้ส่งฝูงบินคอร์แซร์และฮอล์ค 3 รวม 14 เครื่อง พร้อมลูกระเบิดเต็มท้อง เข้าถล่มฐานทัพของฝรั่งเศสที่ศรีโสภณเพื่อเป็นการตอบโต้ฝรั่งเศสส่งฟาร์มังมามาทิ้งระเบิดอรัญประเทศ ฝรั่งเศสเตรียมปืนใหญ่ต่อต้านอากาศยานไว้ต้อนรับเต็มที่ แต่เสืออากาศไทยก็หย่อนระเบิดใส่จนเงียบเสียง แล้วทำลายคลังอาวุธจนยับเยิน กลับมาได้ครบทั้ง 14 ลำ
การรบดำเนินต่อไปจนวันที่ 8 ธันวาคม 1941 (2484) ฝรั่งเศสต้องขอสงบศึก และยอมคืนดินแดนให้ไทย
เรียกว่าตดยังไม่ทันได้หายเหม็น ญี่ปุ่นผู้ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นทูตสันติภาพก็นำกำลังยกพลขึ้นบกตั้งแต่ภาคใต้จนถึงบางปู นอกจากจะใช้ปืนกลเรือกราดยิงไม่ให้เครื่องบินไทยที่กองบินอ่าวมะนาวเงยหัวขึ้นจากรันเวย์ได้แล้ว ยังส่งฝูงบิน 28 เครื่องโจมตีสนามบินวัฒนานครเพื่อไม่ให้ไทยได้ใช้เครื่องบินต่อต้านญี่ปุ่นด้วย แต่เสืออากาศไทยก็ยังนำฮอล์ค 3 ฝ่าระเบิดขึ้นไปได้ทั้ง 3 เครื่อง เข้าสู้กับฝูงบินขับไล่ Nakajima Ki-43 Hayabusa ของญี่ปุ่นจนถูกสอยร่วงหมด (เครื่องบินไทยนะที่โดนสอย)
เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้ไทยต้องจำยอมเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และร่วมรบกับฝ่ายอักษะ
ในช่วงนั้นญี่ปุ่นได้เข้าควบคุมกิจการการบินของไทย กองทัพไทยได้รับเครื่องบินขับไล่ Nakajima Ki-43 Hayabusa มาประจำการ 24 ลำ โดยเป็นเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดของไทยในสงครามโลก รวมถึงยังได้รับเครื่องบินทิ้งระเบิด Mitsubishi G3M Nell และเครื่องบินลาดตระเวน Aichi E13A Jake อีกด้วย อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลให้ไทยได้รับการสนับสนุนทางทหาร รวมถึงเครื่องบินและอุปกรณ์ทางทหารอื่นๆ ที่จำเป็นในการป้องกัน และโจมตีศัตรูในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจากญี่ปุ่น
เครื่องบินไทยหยุด
นับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเหตุให้การผลิตเครื่องบินรบของไทยเป็นอันต้องหยุดฉงักไป ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการทหารจากประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น และเยอรมนี ไม่สามารถผลิตเครื่องบินรบเองได้ ส่งผลให้ฐานการผลิตเครื่องบินรบของไทยนั้นอ่อนแอ และขาดการพัฒนา
ซึ่งหากจะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ก็ดูจะไม่คุ้มเสีย หากจะพัฒนาเทคโนโลยีการบินของไทยขึ้นใหม่ก็ไม่อาจตามเทคโนโลยีจากต่างชาติทัน ไทยจึงต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การป้องกันตัวเอง ประกอบกับสงครามเย็นและสงครามเวียดนามทำให้ไทยต้องการเครื่องบินรบ และอุปกรณ์ทางการทหารที่ทันสมัย
เหมาะเจาะพอดีกับช่วงนั้นที่ไทยเราได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาอย่างท่วมท้น โดยได้รับเครื่องบินแบบต่างๆ มากกว่า 300 ลำ การซื้อเครื่องบินจากต่างชาติไปเลยแทนที่จะผลิตเองจึงคุ้มกว่า แต่ทัพอากาศก็ไม่ได้เลิกผลิตไปเสียทีเดียว แต่จะผลิตเพียงเพื่อการฝึกบินเท่านั้น
จันทราเป็นเครื่องบินแบบแรกของทัพอากาศที่ผลิตออกมาใช้งานภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นบินครั้งแรกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1971 (2514) เพื่อใช้ฝึกบิน จันทราใช้เครื่องยนต์ลูกสูบคอนติเนนตัล IO-360-H ความเร็วสูงสุด 258 กม./ชม.
นอกจากจันทราแล้วก็ยังมีแฟรนเทรนเนอร์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับบริษัทไวท์ฟลุค ซอยบาว ของเยอรมัน และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมากองทัพอากาศไทยได้มีการซื้อเครื่องบินรบจากต่างประเทศ เช่น เครื่องบินขับไล่แบบ F-16 Fighting Falcon และ JAS 39 Gripen จากสวีเดน
ปัจจุบัน กองทัพอากาศมีกำลังทางอากาศทั้งสิ้น 12 กองบิน และ 1 โรงเรียนการบิน โดยมีอากาศยานรวมเกือบ 320 ลำ
บทสรุป
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของประวัติศาสตร์การบินไทย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยภายใต้ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งเล็งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีจากต่างประเทศ มีการพัฒนาตามสถานการณ์โลกตลอดมาจนเครื่องบินไทยได้เฉิดฉายในเวทีต่างๆ
นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ปัจจุบันประเทศไทยมิได้อยู่แนวหน้าของวิทยาการในภูมิภาคอีกแล้วไม่ว่าจะเป็นด้านใด ไทยอารยะยังคงเชื่อว่าศักยภาพของคนไทยยังคงไม่ได้หายไปไหน หากแต่รอการกระตุ้นให้กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง
ขอให้ชาวไทยทุกคนจงเชื่อมั่นในศักยภาพของชนชาติไทย และทำให้ชาติไทยกลับมายิ่งใหญ่เกรียงไกรได้อีกครั้ง
อ้างอิง
🕮 ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! ไทยสร้างเครื่องบินรบเอง ๒๐๐ ลำ ทำสงครามเวหาครั้งแรกในประวัติศาสตร์!!
🕮 พัฒนาการอากาศยานและเทคโนโลยีการบินกองทัพอากาศไทย พ.ศ. 2454-2494
🕮 รู้หรือไม่? ประเทศไทยเคยสร้างเครื่องบินรบใช้เอง เป็นชาติแรกในเอเชีย!?
🕮 “สยามประเทศ”เคยผลิตเครื่องบินรบใช้เอง กว่า ๒๐๐ ลำ จนเป็นชาติที่มีเครื่องบินรบมากที่สุด
🕮 สนามบินแห่งแรกของไทยคือที่ไหน ปัจจุบันเป็นอย่างไรหลังมีดอนเมือง-สุวรรณภูมิ