เรียบเรียงโดย: กายแดง

แปลก พิบูลสงคราม

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่อาจเรียกได้ว่ามีชีวิตทางการเมืองโลดโผนที่สุดคนหนึ่งและมีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นอย่างมาก วันนี้เนื่องในวันครบรอบ 127 ปีชาตกาล ไทยอารยะจะมาเล่าถึง 14 นโยบายชาตินิยมของจอมพลปอที่เปลี่ยนโฉมชาติไทยให้ฟังกันครับ


จอมพลปอ หรือ แปลก ขีดตะสังคะเกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2440 ณ อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นบุตรนายขีดและนางสำอางค์ โดยได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก กระทั่งสำเร็จการศึกษาขณะอายุ 19 ปี จากนั้นไม่นานก็ได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษา และที่ฝรั่งเศสนี้เองท่านได้พบกับเหล่า “คณะราษฎร” ผู้ที่จะเป็นทั้งมิตรและศัตรูในอนาคต 

จอมพลป.เป็นหนึ่งในหัวหอกสำคัญของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในฐานะผู้นำสายทหาร ท่านได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในปี 2481 จากบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 และในการปราบกบฏบวรเดช โดยกลับมาดำรงตำแหน่งอีกหลายสมัย จนถึงปี 2500 ก็เป็นวาระที่ 8 ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายในตำแหน่งท่านผู้นำ

นโยบายชาตินิยมของจอมพล ป.

1) จาก 'สยาม' เป็น 'ไทย'

การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ เกิดขึ้นในปี 2482 ในสมัยที่ จอมพลป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก โดยยึดหลักที่ว่าประเทศส่วนใหญ่มักตั้งชื่อประเทศตามเชื้อชาติของตน

อีกเหตุผลสำคัญที่ “สยาม” ต้องเปลี่ยนเป็น “ไทย” ก็เพราะเกรงว่า หากยังคงชื่อสยามไว้อาจมีชนชาติอื่นที่อพยพเข้ามาภายหลังอ้างเอาว่า “ประเทศสยาม” นี้เป็นประเทศเป็นของตน

อย่างไรก็ดียังมีเสียงคัดค้านจากบางฝ่ายว่าที่เกรงว่าจะเป็นการทำให้คนเชื้อชาติอื่น เช่น จีน มลายู ไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศ ‘ไทย’ แต่ทว่าในที่สุดประกาศรัฐนิยมก็มีผลบังคับใช้

2) ชาตินิยมเจแปนโมเดล

ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตมากว่า 600 ปี ระยะเวลาที่ยาวนานถึงเพียงนี้ ย่อมแสดงว่า สัมพันธภาพที่ผ่านๆ มาของทั้งสองคงดำเนินไปด้วยดี แต่ยุคทองของความสัมพันธ์ของสองประเทศคือ “ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475” นับแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นเริ่มก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางใหม่ในเอเชีย สำหรับประชาธิปไตยไทยในช่วงแรกต้องนับว่าญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนสำคัญ

ปี 2477 คณะราษฎรได้เดินทางไปดูงานที่ 4 เมืองใหญ่ในญี่ปุ่น ได้ไปศึกษาดูงานในกิจการโรงงานอุตสาหกรรมหลายสิบแห่ง รวมทั้งกิจการเชิงพาณิชย์ กิจการหนังสือพิมพ์ สถานศึกษา หน่วยงานราชการ พิพิธภัณฑ์ ในระยะต่อมาไทยและญี่ปุ่นก็ขยายความร่วมมือไปทางด้านการทหาร มีการนำเข้าวิทยาการเรือดำน้ำ การเดินเรือพาณิชย์นาวี การต่อเครื่องบิน และส่งนักเรียนทางการทหารไทยไปศึกษาวิชาการทหารที่ญี่ปุ่นหลายชุด ฯลฯ

ญี่ปุ่นเป็นตัวแบบที่เป็นกึ่งกลางระหว่างประเทศพัฒนาแล้วอย่างตะวันตก กับประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย ญี่ปุ่นเคยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาก่อน แต่ว่าพัฒนาประเทศเข้าใกล้ประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยที่สำคัญก็คือสามารถรักษาความเป็นตัวตนไว้ได้ ออกมาทำงานนอกบ้านก็แต่งสูท กลับไปบ้านก็แต่งชุดแบบญี่ปุ่น สิ่งนี้ทำให้ผู้นำชาตินิยมอย่างคณะราษฎรรู้สึกว่าญี่ปุ่นสามารถรักษาทั้งสองสิ่งไว้ได้ เจริญแบบตะวันตกแต่ตัวตนยังเป็นแบบญี่ปุ่น

3) เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย

ใน 2484 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพลป. ตัดสินใจนำไทยเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะโดยร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น กรมโฆษณาการจึงได้จัดทำโปสเตอร์สังกะสีออกปิดตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อชวนเชื่อกับประชาชนคนไทยในขณะนั้นว่า “พี่น้องชาวไทยจงมีความสามัคคีกัน จงเชื่อมั่นในรัฐบาลและกองทัพของเรา มีความเชื่อมั่นว่าเราต้องชนะ จงระลึกเสมอว่า ข่าวที่มาจากศัตรูย่อมเป็นข่าวร้ายต่อเรา” และ “อังกฤษเป็นศัตรูของพวกเรา จงร่วมใจทำลายผู้รุกรานด้วยกันและขอให้ไทยเจริญยิ่งๆ ขึ้น ทั้งขอให้บรรลุผลการวางระเบียบโลกใหม่ในเอเชีย”

ในกาลต่อมาที่รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ซึ่งเป็นการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองอย่างเต็มตัว และทำให้ประเทศไทยตกเป็นเป้าโจมตีทางอากาศโดยฝ่ายพันธมิตร จนเกิดเหตุการณ์ภาวะเงินเฟ้อ การขาดแคลนสินค้า และขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงจากการถูกยึดครองกิจการธุรกิจ ทำให้เกิดภาวะคนตกงานจำนวนมาก

4) ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ

เป็นการปลุกเร้าสำนึกของประชาชนให้เกิดความรู้สึกรักชาติทั้งความรู้สึกชาตินิยมทางเศรษฐกิจ โดยเมื่อคนไทยมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็จะสามารถสร้างชาติให้มีความยิ่งใหญ่และก้าวหน้า ตามคำขวัญ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ”

ตัวอย่างสินค้าไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ เช่น ยานัตถุ์หมอมี ปูนตราช้าง น้ำปลาทิพรส ไม้ขีดไฟตราพญานาค เบียร์สิงห์ เป็นต้น

5) ปฏิรูปการแต่งกาย

การประกาศรัฐนิยมประกาศไว้ว่าชนชาติไทยไม่พึงปรากฏตัวในชุมชนหรือสาธารณสถานในเขตเทศบาล โดยไม่แต่งกายให้เรียบร้อย การแต่งกายที่ถือว่าเรียบร้อยสำหรับประชาชนชาวไทยมีดังนี้

ชายอย่านุ่งผ้าโสร่ง เปลือยท่อนบน โกนหัว ใส่หมวกแขก (กะปิเยาะห์) หรือโพกหัว แต่จงแต่งกายตามแบบสากลขายาวหรือสวมกางเกงแบบไทยขาสั้น สวมเสื้อกลัดกระดุมให้เรียบร้อย

หญิงอย่าเปลือยท่อนบนหรือใช้ผ้าแถบคาดอก อย่าสวมเสื้อชั้นในตัวเดียวหรือทูลของบนศีรษะ แต่จงไว้ผมยาว สวมเสื้อชั้นนอกให้สะอาดเรียบร้อย และนุ่งผ้าซิ่น (ผ้าถุง) ทุกคน ใช้หาบแผนการทูลของบนศีรษะ

6) ผนวกดินแดนไทยเดิม

ในข้อตกลงเกี่ยวกับการร่วมยุทธระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ทางบก ญี่ปุ่นสัญญาว่าจะยกดินแดนที่ไทยเคยเสียไปกลับคืนมา ไทยได้มีการทำสนธิสัญญากับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2486 หลังการประกาศมอบดินแดนทั้งหมดให้แก่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2486

ราชกิจจานุเบกษาระบุว่า “ฉะนั้น กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และบรรดาเกาะที่ขึ้นอยู่กับทั้งเชียงตุงและเมืองพาน เป็นอันรวมเข้าในราชอานาจักรไทยตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2486 เป็นต้นไป

หลังจากที่ไทยเข้าครอบครองดินแดนตามเป้าหมายก็ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยขึ้นทุกอำเภอ รัฐบาลถือว่าการผนวกดินแดนสหรัฐไทยเดิมอยู่ภายใต้นโยบายรวมชนเผ่าไทยเพื่อสร้างชาติไทยให้ยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจ รัฐบาลถือว่าราษฏรในดินแดนที่ผนวกมาต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับราษฎรในไทย ห้ามข้าราชการสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร

7) การวิวัฒน์ภาสาไทย

ในปี 2485 จอมพลป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย ได้ยกร่างและประกาศใช้อักขรวิธีไทยแบบใหม่ขึ้น เพื่อให้การสะกดคำในภาษาไทยกะทัดรัดและลดความซ้ำซ้อนของตัวอักษรลง

โดยให้งดใช้สระ ใ, ฤ, ฤๅ, ฦ, ฦๅ และพยัญชนะ ฃ, ฅ, ฆ, ฌ, ฎ, ฏ, ฐ , ฑ, ฒ, ณ, ศ, ษ, ฬ ส่วนตัวอักษร ญ ให้คงไว้ แต่ให้ตัดเชิงออกเสีย ตัวอย่างคำ เช่น พฤกษา→พรึกสา ราษฎร→ราสดร เป็นต้น

อนึ่ง การเปลี่ยนในด้านภาษานี้ยังถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธคำร้องขอกองทัพญี่ปุ่นที่จะให้คนไทยเรียนภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย เนื่องจากการเผยแพร่ภาษาไทยแบบใหม่ยังไม่ดีพอ

8) ปิดโรงเรียนจีนและห้ามสอนภาษาจีน

ในช่วงที่จอมพลป. เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้ล้มล้างระบบการเรียนแบบจีนที่ให้การศึกษาแก่นักเรียนประมาณ 17,000 คนในปี 2481 แต่เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 จอมพลป. พบว่ามีการฟื้นฟูโรงเรียนจีนกันอย่างน่าหวั่นเกรงพร้อมกับมีผู้สมัครเข้าเรียนเกินกว่า 175,000 คน

โรงเรียนจีนถูกตรวจพบว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะลัทธิคอมมิวนิสต์ให้ประชาชน รวมทั้งขัดขวางกระบวนการผสมกลมกลืนให้คนไทยเชื้อสายจีนให้รับวัฒนธรรมไทย จึงมีมาตรการออกระเบียบคําสั่งให้โรงเรียนจีนสอนภาษาจีนได้เพียงวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ทําให้โรงเรียนจีนถูกสั่งปิดเป็นจํานวนมาก ส่วนโรงเรียนที่เหลือก็ลักลอบสอนเกินกว่าวันละ 1 ชั่วโมง 

ซึ่งสำนวน “เรียบร้อยโรงเรียนจีน” ก็เกิดในช่วงนี้ โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ของทางการจะไปตรวจก็จะนัดแนะบอกกล่าวล่วงหน้าให้โรงเรียนทราบก่อน และมีการลงผลการตรวจว่า “เรียบร้อย” คือไม่มีการทําผิดระเบียบ ส่วนโรงเรียนที่ถูกจับได้ว่ามีความผิดก็จะถูกปิดถาวร

9) อาชีพสงวนคนไทย

ปี 2490 ยุคจอมพลป. พิบูลสงคราม รัฐบาลเริ่มใช้นโยบายชาตินิยม มีการออก กฎหมาย บังคับให้โรงสี และกิจการก่อสร้างที่รับงานของรัฐ มีแรงงานชาวไทยไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด ทั้งมีการควบคุมอย่างเข้มงวด และใช้มาตรการรุนแรงกับหัวหน้ากรรมกรชาวจีนที่ก่อเหตุนัดหยุดงานด้วยการเนรเทศกลับประเทศ การออกกฎหมายควบคุมจำนวนชาวจีนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย และขึ้นค่าธรรมเนียมภาษีคนต่างด้าว ด้วยขณะนั้นมีแรงงานชาวจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก

มีการสงวนอาชีพบางอย่างไว้สำหรับแรงงานไทย ห้ามไม่ให้แรงงานต่างสัญชาติทำงานที่กำหนดไว้ 17 อาชีพ ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีการสงวนอาชีพไว้ให้เฉพาะคนไทย กระทรวงแรงงานกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำทั้งหมด 40 งาน ห้ามทำเด็ดขาด 27 งาน และสามารถทำได้แต่อยู่ใต้เงื่อนไข 13 งาน

10) ก๋วยเตี๋ยว 8 ชนิด

ปลายปี 2485 จอมพลป. พิบูลสงครามรณรงค์ให้ราษฎรไทยบริโภคก๋วยเตี๋ยว พร้อมกับเผยแพร่ตำหรับก๋วยเตี๋ยว 8 ชนิดของรัฐบาล ทั้งกระตุ้นให้ราษฎรไทยร่วมใจกันทั้งขายและกินก๋วยเตี๋ยวระดับวาระแห่งชาติ จอมพลป. ถึงกับเสนอให้ยืมทุนเริ่มต้นรายละ 30 บาทโดยไม่คิดดอกเบี้ยเพื่อแพร่การขายออกทั่วประเทศโดยเร็ว 

ก๋วยเตี๋ยว 8 สูตรได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว ก๋วยเตี๋ยวไก่ ก๋วยเตี๋ยวปูทะเล ก๋วยเตี๋ยวผัดถั่วงอก ก๋วยเตี๋ยวกวางตุ้งหรือก๋วยเตี๋ยวผัดใบกาน้า และก๋วยเตี๋ยวผัดกะทิ

จอมพลป. “อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวอย่างทั่วถึง เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์ มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทําเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันคือเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจํานวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาทนั้นก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกัน ไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ…”

11) ยุวชนทหาร

ในปี 2481 ขณะที่สงครามเริ่มคุกรุ่นขึ้นในยุโรป ไทยเราซึ่งอยู่ในยุคจอมพลป. พิบูลสงคราม ได้เตรียมตัวเพื่อรับสถานการณ์ที่อาจลุกลามมาถึง โดยจัดตั้ง “กรมยุวชนทหาร” สังกัดกระทรวงกลาโหมเพราะหากเกิดสงครามแม้จะระดมพลได้ทหารกองหนุนมาเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงฝึกนักเรียนมมัธยมปลายและนิสิตนักศึกษาไว้เพื่อเป็นยุวชนทหาร

8 ธันวาคม 2484 ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ขอเดินทัพผ่านไทยโดยไม่บอกล่วงหน้า คนไทยในที่เกิดเหตุแทนที่จะวิ่งหนี แต่ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชนต่างเข้ารักษาแผ่นดินไทยโดยไม่คิดชีวิต ทุกแห่งมียุวชนทหารเข้าร่วมด้วย และได้สร้างวีรกรรมไว้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

12) ส่งเสริมการศึกษา

จอมพลป. ส่งเสริมให้สตรีเข้าศึกษามากขึ้น ส่งเสริมการสร้างโรงเรียนไปยังชนบท คือ รร.ประชาบาล ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ โรงเรียนอนุบาลรัฐบาลแห่งแรกของไทย อันมีต้นแบบจากการที่รัฐมนตรีในรัฐบาลสมัยนั้นศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น

จอมพล ป. ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ริเริ่มองค์กรและหน่วยงานสำคัญ ๆ ของประเทศหลายองค์กร ที่พัฒนาและเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน ปี 2486 จอมพลป. ได้ยกฐานะวิทยาลัยเกษตรศาสตรเป็น “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” โรงเรียนศิลปากรก็ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในสมัยของท่าน มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

รวมทั้งท่านยังเป็นผู้ที่ใช้อำนาจยึดสถานที่ต่าง ๆ ที่เคยเป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ และที่อยู่ของบุคคลสำคัญก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาใช้เป็นสถานที่ราชการ เช่น วังบางขุนพรหม บ้านมนังคศิลา บ้านพิษณุโลก บ้านนรสิงห์ เป็นต้น

13) ย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลเข้าไทย และกดดันให้ไทยเป็นพวกด้วย เมื่อญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำ จอมพลป. จึงเห็นเป็นโอกาสที่ไทยจะเปิดศึกขับไล่ญี่ปุ่น จึงได้วางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ด้วยการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปยังเพชรบูรณ์ 

โดยในช่วงเวลานั้นเพชรบูรณ์ยังเป็นพื้นที่ป่า มีภูเขาล้อมรอบ จึงเหมาะใช้ตั้งฐานทัพบัญชาการรบ แต่แล้วญี่ปุ่นก็เริ่มระแคะระคาย ฝ่ายไทยจึงอ้างว่าเป็นการเตรียมการเพื่ออพยพประชาชนหนีการทิ้งบอมบ์ทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตร

การย้ายเมืองหลวงมีขึ้นช่วง 2486-2487 ว่ากันในทางปฏิบัติมีความคืบหน้าที่อย่างเด่นชัด เพียงแต่ยังไม่ได้ประกาศออกมาเท่านั้น โดยระหว่างนั้นมีการขนสมบัติชาติหลายชิ้นมาเก็บรักษาไว้ที่เพชรบูรณ์เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดจากการทิ้งระเบิด

14) ย้ายเมืองหลวงไปลพบุรี

จอมพล ป.เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้เริ่มเสนอแนวคิดในการย้ายเมืองหลวงออกจากกรุงเทพฯ จอมพล ป.ทำเรื่องของบประมาณมากกว่า 1 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาลพบุรี โดยมิใช่การพัฒนาเฉพาะแต่กิจการทางทหาร แต่ยังได้ทำการเวนคืนที่ดินขนาดใหญ่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองเก่าเพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้น ในคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ.2480 ความตอนหนึ่งว่า

“…กะซวงกลาโหมรายงานว่า เวลานี้เหตุการน์ของโลกกำลังปั่นป่วนหยู่มาก มหาสงครามอาจอุบัติขึ้นอีกได้ เพื่อไห้ประเทสสยามรอดพ้นจากการรุกรานและภัยสงครามลงบ้าง จึ่งเสนอไห้รัถบาลดำริไนเรื่องต่อไปนี้ ควนคิดเปลี่ยนเมืองหลวงไปหยู่ลพบุรีเปนหย่างต่ำที่สุด เพื่อไห้พ้นยุทธบริเวน…”

แม้ในครั้งนั้น ไม่มีใครคิดว่าลพบุรีเหมาะสมเป็นเมืองหลวงใหม่ แต่จากหลักฐานหลายอย่าง ชวนให้เราคิดได้ว่า จอมพล ป. น่าจะยังสนใจลพบุรีอยู่ และได้เตรียมการวางแผนพัฒนาเมืองไว้สำหรับการเป็น “เมืองหลวงสำรอง” ในสภาวะฉุกเฉิน

บั้นปลายชีวิต

หลังสงครามโลกท่านยอมติดคุกในฐานะอาชญากรสงคราม และยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด กลับไปทำไร่ถั่วฝักยาว แต่แล้วด้วยความผกผันทางการเมือง ในปี 2491 ท่านก็ได้หวนกลับคืนมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจากการทำรัฐประหารของกลุ่มนายทหารที่นับถือท่านอยู่ ซึ่งคราวนี้ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 9 ปี ผ่านวิกฤตจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง แต่ก็รอดมาทุกครั้ง จนได้ฉายาว่า “จอมพลกระดูกเหล็ก”

วาระสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของท่านคือเย็นวันที่ 16 กันยายน 2500 เมื่อถูกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทหารรุ่นน้องที่ไว้ใจทำการรัฐประหาร ซึ่งท่านได้หลบหนีไปกับรถยนต์ส่วนตัวผ่านทางประเทศกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ณ ที่นั่น ท่านและครอบครัวได้รับการต้อนรับอย่างดี ทั้งนี้เพราะทางญี่ปุ่นถือว่าเป็นท่านเป็นผู้ที่บุญคุณต่อญี่ปุ่นเนื่องจากในช่วงสงครามโลกท่านยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านเข้าประเทศไทยด้วยดี ก็เพื่อจะไม่ต้องมีการสู้รบยืดเยื้ออันรังแต่จะทำให้มีแต่ความสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย  ซึ่งท่านก็ได้พำนักอยู่ที่นั่นจนตราบถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านพักที่ตำบลซากามิโอโน ซานกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2507 สิริอายุได้ 67 ปี

ส่งท้าย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยที่มีทั้งผู้สนับสนุนและวิพากษ์วิจารณ์ ท่านมีทั้งผลงานที่สร้างคุณูปการและการกระทำที่สร้างผลกระทบในแง่ลบ ในด้านหนึ่ง ท่านได้วางรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การใช้อำนาจบางครั้งก็ถูกมองว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน นโยบายชาตินิยมของท่านสร้างทั้งความภาคภูมิใจและความไม่พอใจในบางกลุ่ม การพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดนำมาซึ่งความเจริญ แต่ก็ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม

การประเมินบทบาทของจอมพล ป. ในประวัติศาสตร์ไทยจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าท่านมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในยุคสมัยนั้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การศึกษาและทำความเข้าใจบทบาทของท่านจึงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และการพัฒนาชาติไทย