เรียบเรียงโดย: กายแดง
ในบรรดาผู้นำไทยทั้งหลาย เมื่อถึงคราวที่จำเป็นจะต้อง “ลี้ภัย” การลี้ภัยของจอมพลป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี 8 สมัยนั้น อาจถือได้ว่าลุ้นระทึกที่สุด เพราะท่านจอมพลผู้เคยยิ่งใหญ่ มีอำนาจมากมาย กลับไม่ได้มี “ดีลพิเศษ” อันจะทำให้หนีออกนอกประเทศอย่างได้สะดวกสบายเหมือนผู้นำคนอื่นๆ หากแต่เป็นการตัดสินใจอย่างกระทันหันกระชั้นชิดในวันที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตมือขวาเกิดทรยศยักหลังยึดอำนาจรุ่นพี่ตัวเอง จนทำให้จอมพลป.ต้องตัดสินใจ “หนี” ไปตายเอาดาบหน้าโดยไม่ทันได้เตรียมการหรือขนทรัพย์สมบัติอะไรไปเลยในเย็นวันที่ 16 กันยายน 2500(1957) หรือเหตุการณ์ “สามวันอันตราย” ปิดฉากการเป็นผู้นำจากยุคคณะราษฎรคนสุดท้าย และกลายเป็นฝ่าย “รอยัลลิสต์” ที่ได้ครองอำนาจอย่างสมบูรณ์นับจากวันนั้น และยังส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน บทความ “จากหาดเล็กสู่แดนอาทิย์อุทัย : เส้นทางลี้ภัยของจอมพลกระดูกเหล็ก” นี้ ไทยอารยะจะสรุปเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่จอมพลป.ยังอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลจนถึงการกลับสู่บ้านเกิดอย่างสมเกียรติของ “จอมพลผู้นิราศ” และความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับจอมพลสฤษดิ์ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้อ่านกัน
วอเตอร์ลูของจอมพล ป.
ย้อนกลับไปในเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ปี 2490(1947) โดยกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดยผิน ชุณหะวัน อันเป็นความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มของจอมพลป. พิบูลสงคราม และกลุ่มโหนเจ้า เพื่อโค่นอำนาจของกลุ่มปรีดี พนมยงค์ นำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร ในการฟอร์มรัฐบาลจอมพลป.จึงต้องดึงกลุ่มนิยมเจ้าเข้ามา ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันอยู่บ่อยครั้งระหว่างสองขั้วอำนาจนี้ เรื่อยมาจนการรัฐประหารตัวเองของจอมพลป.ในปี 2494 (1951)
ต่อมาในวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 (1957) ความขัดแย้งระหว่างสองขั้วก็เดินมาถึงจุดสูงสุด เมื่อจอมพลสฤษดิ์เรียกร้องให้จอมพลป.มาพบพวกทหารที่หอประชุมกองทัพบก แต่จอมพลป.ปฏิเสธ จนพวกจอมพลสฤษดิ์ต้องเดินทางมาพบที่ทำเนียบรัฐบาลพร้อมยื่นคำขาด โดยให้รัฐบาลทั้งคณะลาออก แต่จอมพลป.ขอผลัดการให้คำตอบออกไปก่อน และเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.9) เพื่อขอพระบรมราชานุญาตให้ปลดจอมพลสฤษดิ์ออกจากผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งพระองค์มีพระราชดำรัสให้จอมพลป.ปรึกษาหารือกับจอมพลสฤษดิ์กันเองก่อน เรื่องปลดสฤษดิ์ไม่ส่งเห็นเป็นประการใด แต่ทรงตรัสว่า
“เอ เขาก็เป็นคนดี”
หลังการเข้าเฝ้า จอมพลป.สั่งให้กลุ่มตำรวจเตรียมแผนจับกุมจอมพลสฤษดิ์และพวกด้วยข้อหากบฏ แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง ราว 23:00 น. การรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ก็เกิดขึ้น ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้เองได้เปิดโอกาสให้กลุ่มโหนเจ้ากลับมามีบทบาทในการเมืองไทยอีกครั้ง
มุ่งหน้าสู่ตะวันออก
ค่ำคืนวันนั้นที่ทำเนียบรัฐบาล เหตุการณ์เริ่มส่อเค้าไม่น่าไว้วางใจ จอมพลป.ลงมาจากห้องพักเรียกพล.ท.บุลศักดิ์ วรรณมาศ ฉาย วิโรจน์สิริ สส.กาญจนบุรี และเลขาธิการนายกฯ ไปพบแล้วพูดว่า “ไป” ทั้งสามลงมาจากตึก โดยมีพ.ต.อ.เทียบ สุทธิมล นายตำรวจที่เข้าเวร พล.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ ตำรวจอารักขาขึ้นรถซีตรองตามไปด้วย จอมพลป.ขับรถด้วยตัวเองมุ่งไปยังบ้านซอยชิดลม
ที่บ้านซอยชิดลม ขณะนั้นศรีภริยาท่านผู้หญิงละเอียดไปประชุมที่นครเจนิวา จอมพลป.ลงมาจากบ้านพร้อมกระเป๋าเอกสารที่มีเงินสดอยู่ 40,000 บาท ท่านขับรถพาทุกคนออกจากบ้านไปตามถนนสุขุมวิทโดยไม่มีใครทราบว่าท่านกำลังคิดอะไรอยู่ เมื่อถึงสถานีตำรวจพระโขนงท่านจึงให้พ.ต.อ.เทียบลง รถมุ่งหน้าไปทางสมุทรปราการอย่างไม่รีบร้อน ชุมพลบันทึกว่าท่านสูบบุหรี่ที่เรียกได้ว่ามวลต่อมวล
แทนที่ท่านจะเลี้ยวรถเข้าบ้านรับรองที่บางปู แต่กลับขับรถเลยไป ระหว่างทางวิทยุในรถก็ประกาศให้จอมพลป.พิบูลสงคราม พลตำรวจเอกเผ่าศรียานนท์ และจอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศลไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก สลับกับเพลงมาร์ชรักชาติ ทุกคนบนรถได้ยินประกาศนี้ แต่ไม่มีใครพูดให้ความเห็นใดๆ
รถซีตรองผ่านเข้าเมืองชลบุรีจนในที่สุดรถก็น้ำมันหมดที่ศรีราชา จึงให้ฉายกับพล.ท.บุลศักดิ์นำรถไปเติมน้ำมันที่ตลาด ครู่ใหญ่รถกลับจากเติมน้ำมันไม่ถึง 100 บาท จอมพลป.ขับรถต่อไปท่ามกลางฝนที่ตกหนัก ชุมพลคิดว่าท่านจะแวะไปยังสัตหีบเพื่อพบพล.ร.ท.ประสงค์ พิบูลสงคราม บุตรชาย แต่เมื่อถึงสัตหีบ ท่านก็ขับรถเลยไป วิทยุยังคงเรียกท่านให้ไปรายงานตัวเป็นระยะๆ
ฟ้าสางที่เมืองตราด
เมื่อรถเลยสัตหีบ ท่านถามขึ้นลอยๆ ว่า มีใครรู้จักถนนไปเขมรผ่างทางไพลินบ้างไหม ชุมพลจึงแน่ใจว่าท่านกำลังจะหนีไปกัมพูชา ท้องฟ้าสว่างที่เมืองตราด หกโมงเช้าวันที่ 17 กันยายน ชุมพลอาสาเข้าตลาดเพื่อหาซื้ออาหารเช้าพร้อมสืบหาข่าวต่างๆ ชาวเมืองตราดทราบแล้วว่ามีการัฐประหารเกิดขึ้นในพระนคร
ชุมพลสอบถามชาวบ้านถึงการเช่าเรือ ชาวเรือถามว่าจะเช่าไปไหน เพราะเป็นฤดูมรสุม ไม่มีใครกล้าออกทะเล ประกอบกับเป็นช่วงรัฐประหารด้วย เขาจึงตอบชาวเรือว่าจะเช่าไปเที่ยวไม่ไกลนัก แต่ชาวเรือปฏิเสธที่จะออกจากฝั่ง
ชุมพลจึงกลับไปหาจอมพลป. เพื่อรายงาน ฉายบอกว่าเขาจะช่วยอีกแรง เพราะเคยเป็นครูอาจพบลูกศิษย์ที่พอจะอาศัยไหว้วานได้บ้าง ฉายพบครูประชาบาลคนหนึ่งจึงขอร้องเชิงบังคับ ขอเช่าเรือออกทะเล โดยมิได้บอกจุดหมายปลายทางแต่อย่างใด ครูประชาบาลจำเป็นต้องรับปากด้วยความไม่เต็มใจ และชุมพลยังได้พบกับดาบตำรวจเฉลิม ชัยเชียงเอม หัวหน้าสถานีตำรวจแหลมงอบ ซึ่งอาสาพาคณะไปส่งยังเกาะกง
ตอนเที่ยงวันนั้นจอมพลป.สั่งให้พล.ท.บุลศักดิ์กลับพระนครไปบอกจอมพลสฤษดิ์ว่าไม่ต้องห่วง ท่านออกนอกประเทศไปแล้ว ท่านจะไม่มารบกวน ส่วนการบริหารบ้านเมืองก็ให้ว่ากันไป ขณะนี้พ้นหน้าที่ของท่านแล้ว พร้อมนำปืนกลหลวงให้พล.ท.บุลศักดิ์นำไปคืนจอมพลสฤษดิ์ด้วย
มุ่งสู่กัมพูชา
17 กันยายน เวลาบ่างสอง คณะประกอบด้วยจอมพลป. ฉาย และชุมพลลงเรือประมงเล็กออกจากท่าในที่สุด ไม่มีวทยุ แผนที่ แม้กระทั่งเข็มทิศ ในทะเลบริเวณนั้นมีเรือเราอยู่เพียงลำเดียว ท่ามกลางคลื่นลมแรง การเดินเรือจึงต้องเลาะไปตามชายฝั่งเท่านั้น
ด้วยความที่เป็นเรือเล็ก เรือจึงโคลงอย่างหนัก ชุมพลเมาคลื่นอย่างหนักจนต้องไปกอดเสากลางเรือไว้แน่น แต่ท่านจอมพลป.นั้นนิ่งเฉย ไม่มีอาการวิตกแต่อย่างใด เรือจำเป็นต้องจอดเทียบท่าที่เกาะไม้ซี้ตาบ้อง (เกาะไม้ซี้ใหญ่) คณะจำเป็นต้องเปลี่ยนเรือ หมู่เหลิมต้องสวมวิญญาณตำรวจน้ำเจรจากับลุงเล้ง โตวิรัตน์ ชาวประมงที่พาเรือชื่อ “ประสิทธิ์มงคล” จอดหลบคลื่นที่เกาะไม้ซี้ตาบ้อง หมู่เหลิมขอให้ลุงเล้งช่วยนำร่องคณะไปยังเขมร แต่เส้นทางที่จะไปนั้นอันตรายมาก จนเวลาประมาณสองทุ่มเรือต้องแล่นเลาะเลียบเกาะจนพามาถึงหาดเล็ก จ.ตราด ชายแดนไทย-กัมพูชา
คณะจอดเรือเพื่อหาอาหารค่ำ เมื่อผู้ใหญ่บ้านทราบเรื่อง จึงพาพรรคพวกมาต้อนรับทำข้าวต้มเลี้ยง ระหว่างกินข้าวต้มกันอยู่นั้น วิทยุก็ประกาศให้จอมพลป.ไปรายงานตัวเป็นระยะๆ ท่าทีของท่านดูไม่ค่อยสบายใจนัก ขณะนั้นเกือบสี่ทุ่ม ท่านจึงบอกให้ออกเดินทาง ขืนชักช้า เดี๋ยวคนของสฤษดิ์คงตามทัน คณะจึงออกเรือทันทีหลังผ่านพ้นเที่ยงคืน อันเป็นก้าวสุดท้ายของจอมพลป. พิบูลสงครามบนแผ่นดินไทย
เหมือนกาบมะพร้าวลอยตามยถากรรม
การออกทะเลในครั้งนี้เลวร้ายกว่าเมื่อครั้งออกจากเมืองตราดมาก ท้องทะเลปั่นปวน พายุโหมกระหน่ำ คลื่นแต่ละลูกเหมือนภูเขา น้ำทะเลเริ่มทะลักเข้าเรือโครมๆ จนเรือเอียงวูปเหมือนจะจม แต่ไม่จม น้ำท่วมห้องเครื่องจนดับสนิท
เมื่อเครื่องเรือดับ การบังคับเรือจึงทำไม่ได้เลย เหมือนกาบมะพร้าวลอยไปตามน้ำ ต้องช่วยกันไปวิดน้ำออกจากห้องเครื่อง แต่จอมพลป.นั่งนิ่งเงียบสงบ ไม่มีอาการเมาคลื่นหรืออะไรทั้งสิ้น เรือกำลังอยู่ฝั่งเขมรหรือลอยอยู่ในทะเลไทยก็ไม่มีใครรู้ แม้แต่ตัวกัปตันเอง
ท้องทะเลปั่นป่วนต่อไป ได้แต่เฝ้าคอยภาวนาคุณพระคุณเจ้า ไม่มีภัยใดน่ากลัวกว่านี้อีกแล้ว ในที่สุดหลังพายุสงบท้องฟ้าก็แจ่มใส กัปตันสามารถบอกได้ทันทีว่าอยู่ที่ไหนโดนอาศัยดวงดาวเสมือนแผนที่เดินเรือ กระทั่งประมาณตีห้าก็มองเห็นดินแดน “เกาะกง” ของกัมพูชา อันเป็นจุดหมายปลายทาง
ลี้ภัย
ก่อนจะถึงฝั่งมีทหารขับเรือเข้าเทียบเรือประสิทธิ์มงคลของคณะ คณะแก่ทหารว่าท่านเป็นใคร มาจากไหน และต้องการ “ลี้ภัย” ทหารเขมรจึงบอกให้คณะลอยเรือไปยัง “โป๊ะมารีน” ที่ตั้งอยู่ปลายโขดทรายบ้านคลองหางควาย ค่ายทหารเรือย่อยของกัมพูชา
ค่ายนี้มีกองกำลัง 1 กองร้อย มีหัวหน้าค่ายคือเรือตรีเซป เชือน ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คณะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ พร้อมเติมสิ่งของจำเป็นและเสบียง โดยเซป เชือน อาสาจะพาคณะไปส่งยังค่ายใหญ่แหลมด่าน 18 กันยายน ท้องฟ้าสดใสไร้คลื่นลม เรือประสิทธิ์มงคลเทียบท่าที่ค่ายแหลมด่านอย่างนิ่มนวล
เซป เชือนนำคณะมารอที่ห้องรับแขก และแจ้งว่ากำลังเคาะวิทยุส่งข่าวเข้าฐานทัพเรือ “เรียม” จังหวัดกำปอต ทุกคนแอบระแวงกันว่าจะกลายเป็นผู้ต้องหารึเปล่า แต่แล้วเวลา 14:20 พระเจ้านโรดมสีหนุส่งรหัสมอร์สมาจากปารีสเป็นคำสั่งด่วนว่า
“จงดูแลแขกเกียรติยศให้ดีที่สุด”
ทั้งค่ายตกอยู่ในความวุ่นวาย ผบ.ค่ายจัดกำลังเข้าอารักขาจอมพลป.นำทางไปยังเรือนรับรอง พร้อมจัดเลี้ยงอาหารเย็น และเข้าคารวะ เรียกได้ว่าเปลี่ยนสถานะจากมาเป็นราชาเลยทีเดียว
นโปเลียนถูกปล่อยเกาะ
รุ่งขึ้นวันที่ 20 กันยายน 2500 รัฐบาลพนมเปญส่งเรือรบที่เกาะกง ขณะอยู่ในเรือ จอมพลป. มีท่าทีแจ่มใสขึ้น ท่านบอกว่าหายกังวลเรื่องที่ว่าทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะตามมาทัน ท่านจึงนอนพักจนกระทั่งบ่ายโมง เรือรบเดินทางมาถึงเมืองเสียม อันเป็นเมืองชายทะเลของเขมร
“พวกเราเหมือนนโปเลียนถูกปล่อยเกาะ”
จอมพลป. ปรารภปนอารมณ์ขันที่ต้องเดินลุยน้ำทะเล บนฝั่งมีคนมาต้อนรับหลายคน มีรถยนต์ 4 คัน เจ้าเมืองเสียมมาต้อนรับพวกเราด้วย มีรถยนต์นำและตามขบวนมุ่งหน้าไปยังพนมเปญ ขบวนรถยนต์วิ่งมาได้ 4 ชั่วโมง ถึงกรุงพนมเปญ เข้าสู่ “ตำหนักจามกามน” (สวนหม่อน)ในพระราชวังหลวง เป็นตำหนักที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากนัก มีเครื่องเรือนสมบูรณ์
21 กันยายน เวลาเที่ยงเศษ เรือโดยสาร “ศิริธนา” มีผู้โดยสารรวม 40 คน หนึ่งในนั้นคือพล.ร.จ.ประสงค์ พิบูลสงคราม บุตรชายและผบ.นาวิกโยธินเข้าพบผบ.ค่ายแหมด่าน เพื่อไถ่ถามถึงความเรียบร้อย โดยขณะนี้จอมพลป. ได้รับการดูแลเข้าที่พัก “ตำหนักจามกามน” (สวนหม่อน) ในเขตพระราชวังหลวงที่พนมเปญแล้ว สมเด็จพระนโรดม สุรามฤตและสมเด็จเจ้าฟ้าสีหนุทรงไม่เคยลืมที่รัฐบาลไทยสนับสนุนฝ่ายเขมรอิสระต่อสู้กับฝรั่งเศษ และครั้งหนึ่งสมเด็จเจ้าสีหนุเคยลี้ภัยมาอยู่เมืองไทย ท่านได้ให้การต้อนรับและดูแลอย่างดีเป็นพิเศษ โดยให้พำนักอยู่ในวังสวนกุหลาบ
“…สำหรับบ้านเมืองนั้น หมดหน้าที่ของเราแล้ว เรามีหน้าที่แต่สร้างประชาธิปไตยเป็นสำคัญ เวลานี้ก็เป็นหลักฐานแล้ว ใครจะมาเลิกไม่ได้…”
28 พฤษภาคม 2501(1958)
“…(เกี่ยวกับรัฐประหาร) พวกเราไม่ควรไปยุ่งด้วย เวลานี้หมดหน้าที่ของเราในฐานะเป็นผู้ปกครองแล้ว เราต้องเป็นนักกีฬาพอที่จะดูคนอื่นปกครองและถูกปกครองต่อไปด้วยดี…”
2 พฤษจิกายน 2501(1958)
ส่วนหนึ่งจากที่จอมพลป.เขียนถึงพล.ต.อนันต์ พิบูลสงคราม บุตรชาย
พิบูลซัง
หลังพักอยู่ในเขมรราวสามเดือน ปลายปีเดียวกันนั้นจอมพลป.ขอลี้ภัยเข้าประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2500 (1957) ที่ญี่ปุ่นนั้นจอมพลป.พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด พร้อมด้วยจีรวัสส์ บุตรีคนแรกพักบ้านเลขที่ 4655-1, Chome 3, Kamitsurama, Minami Ward, Sagamihara-shi, Kanagawa-ken (เขต Misono 5) ห่างจากโยโกฮาม่า 25 นาที และห่างจากกรุงโตเกียว 1 ชั่วโมง 30 นาที เป็นบ้านที่นายวาดะ คหบดีญี่ปุ่น ผู้จัดการบริษัทน้ำมันมารูเซ็นได้ยกให้เป็นที่อยู่อาศัย มีลูกๆ หลานๆ มาเยี่ยมบ้างเป็นครั้งคราว พบปะคนไทยและแขกชาวญี่ปุ่นซึ่งรู้จัก “พิบูลซัง” เป็นอย่างดี
จอมพลป.ยังคงติดตามข่าวสารบ้านเมืองของโลก มีกิจกรรมที่โปรดปรานคือการขับรถไปทัศนาจรในที่ต่างๆ ระยะไกล เล่นกอล์ฟ พรวนดินทำสวน ปลูกต้นไม้ และพาครอบครัวไปเที่ยว ต่อมาเดือนกันยายน 2501(1958) ท่านได้รับเชิญให้ไปพำนักในประเทศสหรัฐอเมริกา จากเดิมที่ตั้งใจให้อดีตท่านผู้นำสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) จอมพลป.อยู่อาศัยในเบิร์กลีย์ (Berkeley) เป็นเวลา 2 ปี แต่จนแล้วสุดก็ไม่ได้ให้เลคเชอร์ใดๆ ไว้ ก่อนที่จะกลับมายังประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง และได้เดินทางไปอุปสมบทที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2503(1960) ตามที่ได้ปณิธานไว้ รวมเวลาที่อยู่ในเพศบรรพชิต 24 วัน
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506(1963) และมีข่าวลือว่าท่านจะกลับเมืองไทย ท่านจึงเขียนถึงพล.ต.อนันต์ ไว้ว่า
“ …เป็นเรื่องสร้างบนกองลม…โฆษณาด้วยเท็จก็คือสูญเท่ากับสูญ…อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า ผ่านไปได้ ยักษ์ก็ออกมาจากตะเกียงกายสิทธิ์อลาดินแล้ว… ”
พิปุลสังคาโมภิกขุ
“ข้าพเจ้าได้ตั้งความปรารถนาอีกอย่างหนึ่งเป็นเวลานานมาแล้ว กล่าวคือได้อธิษฐานไว้เมื่องานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งข้าพเจ้าได้ตั้งใจบำเพ็ญกุศลอย่างยิ่งว่าข้าพเจ้าจะต้องไปนมัสการพระพุทธสถานในประเทศอินเดียให้ได้ และคิดจะไปอุปสมบทที่พระอารามในพุทธคยา ซึ่งรัฐบาลของข้าพเจ้าได้ไปสร้างไว้”
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
เมษายน 2503(1960) จอมพลป.และภริยาออกเดินทางอีกครั้งด้วยเรือเดินสมุทร SANGOLA เพื่อไปสักการะสังเวชนียสถานและอุปสมบทยังวัดไทยในอินเดีย ระหว่างทางแวะ ฮ่องกง ปีนัง และที่สำคัญพบปะกับนายกรัฐมนตรีพม่า ‘อูนุ’ กัลยาณมิตรที่เคยร่วมงานพระพุทธศาสนาด้วยกัน
ก่อนบวชท่านตระเวณธรรมยาตรานมัสการที่สารนาถ (ปฐมเทศนา) กุสินารา (ปรินิพพาน) ลุมพินี (ประสูติ) รวมระยะเวลาการเดินทางในอินเดียครั้งนี้ทั้งสิ้นสองเดือนกว่า ตั้งแต่ 8 มิถุนายน ถึง 30 กันยายน โดยได้การอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีจากรัวงฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรีเนห์รู และมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดีย
จอมพลป.อุปสมบทในเวลา 16.30 วันที่ 3 สิงหาคม ณ พระพุทธมณฑลโพธิ์บัลลังค์สัมมาสัมพุทธเจ้า วัดไทยพุทธคยาอย่างเรียบง่าย โดยมีพระมหาเกียรติปลงผมให้ และมีพระธรรมธีระราชมหามุนีเป็นพระอุปัชฌายะท่ามกลางสงฆ์ไทยสิบรูป ก่อนบวชท่านยังได้ร่วมปลูกต้นไม้อนุสรณ์อีกด้วย นับเป็นพระไทยรูปแรกที่อุปสมบท ท่านผู้หญิงละเอียดและจีรวัสส์จะทำอาหารมาถวายพระทุกวันๆ ละสองเวลา
“…ท่านตั้งนามให้ว่าพิปุลสังคาโม ได้บวชที่ใกล้มองเห็นต้นโพธิ์ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ในวัดไทย พ่อคิดว่าเป็นความสุขในชีวิตอย่างยิ่งของพ่อ…”
จีรวัสส์ ปันยารชุน บุตรี
จอมพลป.ลาสิกขาในวันที่ 27 สิงหาคมหลังทำวัดเช้า ต่อจากนั้นก็ทำบุญเลี้ยงพระจนถึงวันที่ 29 ท่านเดินทางกลับญี่ปุ่นด้วยเครื่องบินจากกัลกัตตาโดยใช้เวลาประมาณ 11 ชม. แวะย่างกุ้งและฮ่องกงโดยไม่แวะผ่านกรุงเทพฯ
“ขอให้แม่ได้รับผลบุญกุศลครั้งนี้ตลอดจนขอให้พระศรีรัตนตรัยดลบันดาลให้แม่เจริญด้วยจตุรพิธพรชัยสืบไปตลอดกาล…”
หนังสือ “กราบแม่ที่เคารพบูชา” โดย พระพิปูลสังคาโม
คำพูดสุดท้าย
11 มิถุนายน 2507 (1964) ขณะที่จอมพลป.รับประทานอาหารค่ำและดูทีวีไปด้วยตามปกติ พอทานเสร็จท่านก็บ่นว่าเจ็บหน้าอก หมอจึงรีบมาตรวจ และแนนำให้ไปโรงพยาบาล แต่เดินไม่ไหว ท่านผู้หญิงละเอียดจึงพยุงขึ้นพักบนเตียง ณ วินาทีนั้น จอมพลรู้สึกตัวดี และไม่กี่นาทีต่อมาจึงได้เอ่ยวาจาสุดท้ายด้วยจิตใจอันสงบ รวมอายุได้ 66 ปี 10 เดือน 11 วัน
“ …เธอ ความตายคือความสุข… ”
14 มิถุนายน 2507 เวลา 12.30 น. ขบวนรถนำร่างจอมพลป.ให้หีบคลุมด้วยธงชาติไทยออกจากบ้านซากามิฮาราไปยังวัดเรอิเกนจิ (Reigenji) กรุงโตเกียว โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพล.ท.วิฑูร หงสเวช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว มีผู้มาร่วมงานราว 50 คน รวมถึงครอบครัวจากเมืองไทย พอสวดเสร็จก็ทำพิธีประชุมเพลิงทันที
กลับสู้บ้านเกิด
27 มิถุนายน 2507 (1964) เวลา 18.03 น. เครื่องบินการบินไทย “สุรนารี” นำอัฐิจอมพลป.ถึงสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ พระภิกษุหลายร้อยรูปยืนเข้าแถวยาวเหยียด ทหารกองเกีรติยศยืนแถวอย่างสง่างาม สายตานับพันๆ คู่ของเหล่าข้าราชการ และประชาชนต่างจับจ้องด้วยความอาลัยอย่างสุดซึ้ง
อัฐิของจอมพลป. พิบูลสงครามถูกเชิญมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านซอยชิดลม วันที่ 30 กรกฎาคม 2507(1964) อัฐิจอมพลป.ก็ถูกบรรจุที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน ร่วมกับอัฐิของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475(1932) ในช่องเก็บผอบหินอ่อนสีเขียว ผู้คนแน่นแออัดวัด เรียกได้ว่ามืดฟ้ามัวดิน แม้รูปกายของท่านจะเลือนหายไปแล้ว แต่กระแสความนิยมในตัวท่านหาได้เลือนหายไปไม่ แต่มันกลับเข้มข้น และแผ่ขยายไปทั่วราชอณาจักร ดุจต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาออกดอกออกผลจนถึงทุกวันนี้
พล.ต.อนันต์ พิบูลสงครามและพล.ร.จ.ประสงค์ พิบูลสงครามอุ้มหีบบรรจุอัฐิจอมพลป. นิตย์ พิบูลสงครามอุ้มพระพุทธรูปประจำตัว ณ สนามบินดอนเมือง
อัฐิอีก 2 ชิ้น ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามได้มอบให้โรงเรียนวัดเขมิภิรตาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนแรกของจอมพลป. อีกชิ้นหนึ่งได้เชิญไปบรรจุไว้ในเจดีย์องค์เล็กร่วมกับบิดา มารดาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในบริเวณวัดปากน้ำ ริมคลองบางเขนเก่า จังหวัดนนทบุรี
อ้างอิง
🕮 หนังสือก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย จอมพลป.พิบูลสงครามฝากไว้ที่หาดเล็ก ตราด
🕮 หนังสืออนุสรณ์ พลเรือโท ประสงค์ พิบูลสงคราม
🕮 จาก ‘ท่านผู้นำ’ สู่ ‘ผู้ลี้ภัย’ ก้าวสุดท้ายของ จอมพล ป. ฉากชีวิตที่เหมือนกับบทภาพยนตร์
🕮 จอมพล ป. ลี้ภัย พ.ศ. 2500 บทอวสานผู้นำคณะราษฎรคนสุดท้าย
🕮 “เลือกตั้งสกปรก สกปรกตั้งแต่ออกแบบรธน.” ดูกลเบื้องหลังเลือกตั้งสกปรก 2500
🕮 จอมพล ป. พิบูลสงครามถึงแก่อสัญกรรมที่ญี่ปุ่น
🕮 นาทีอสัญกรรมของ“นายกฯตลอดกาล”! “ความตายคือความสุข” ของคนที่รู้จักพอ-รู้จักแพ้!!
🕮 เหตุการณ์การเมืองสามเส้า ‘แปลก-เผ่า-สฤษดิ์’
🕮 ข่าวลือ “รัฐประหาร” และการแบ่งขั้วอำนาจในกองทัพ สมัยรัฐบาล “จอมพลสฤษดิ์”