เรียบเรียงโดย: นายบ้าน
นักศึกษาจีนเพิ่มขึ้น
ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะเดินไปที่ไหนในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร ก็เรียกว่าเราแทบจะเดินชนไหล่กับชาวจีนราวกับว่าพวกเขาเป็นเจ้าของร่วมประเทศไทยไปแล้ว โดยเราเริ่มเห็นได้ชัดว่าจำนวนชาวจีนนั้นเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19 เป็นต้นมากว่าเท่าตัว
ข้อสังเกตดังกล่าวนั้นมิได้ปราศจากมูลความจริง
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ทำการสำรวจจำนวนนักศึกษานานาชาติทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2565 พบว่ามีนักศึกษาจากประเทศจีนราว 21,906 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รองมาคือนักศึกษาจากประเทศพม่า จำนวน 4,046 คน และกัมพูชา 1,528 คน โดยเฉพาะจำนวนนักศึกษาจีนในไทยนั้นเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2553 ประมาณ 6-7 เท่า
เปรียบเทียบจำนวนนักศึกษาต่างชาติในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2555 – 2565. (สำนักข่าวอิศรา)
ทำไมต้องศึกษาที่ไทย
คำถามที่น่าสนใจคือ ทั้งที่ประเทศจีนขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีหัวกะทิมากมาย มีศักยภาพการแข่งขันทางการศึกษาเป็นอันดับที่ 28 จาก 67 ประเทศ ในขณะประเทศไทยได้รับการประเมินว่าอยู่อันดับที่ 54 (จากการสำรวจ World Competitiveness ของ IMD – International Institute for Management Development ประจำปี 2024) เหตุใดวัยรุ่นชาวจีนถึงเลือกเดินทางออกมาจากประเทศบ้านเกิดเพื่อมาศึกษาต่อในประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาต่ำกว่า?
คำตอบอยู่ที่จำนวนประชากรและการแข่งขัน ปัจจุบันประเทศจีนมีประชากรร่วม 1.4 พันล้านคน และมีมหาวิทยาลัยเฉลี่ย 3,000 กว่าแห่ง ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว นับว่ามีการแข่งขันที่สูงมาก หลายครัวเรือนจึงมีการเร่งให้เยาวชนในบ้านจริงจังกับการเรียนอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทั้งนี้เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ โดยระบบการศึกษาจีนจะใช้ระบบการสอบที่เรียกว่า ‘เกาเข่า’
เกาเข่า (高考) เป็นการสอบที่นักเรียนมัธยมปลายจะสอบในช่วงปีสุดท้าย เทียบกับประเทศไทยคล้ายกับสอบเอ็นทรานซ์ (การสอบเพื่อใช้เข้ามหาลัยวิทยาลัยของไทยที่กระทรวงศึกษาธิการเคยใช้เมื่อหลายปีก่อน และสอบได้เพียงครั้งเดียวต่อปี) การสอบเกาเข่าหนึ่งครั้งนั้นจะใช้เวลานานถึง 9 ชั่วโมงในระยะเวลา 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่และภูมิภาค โดยนักเรียนทุกคนถูกบังคับสอบภาษาจีนและคณิตศาสตร์ และต้องเลือกสอบภาษาต่างประเทศหนึ่งภาษา ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่นิยมเลือกภาษาอังกฤษ นอกจากนี้การสอบยังมีการแบ่งระหว่างสายศิลปะกับสายวิทยาศาสตร์ ผู้เข้าสอบที่เลือกสายศิลปะจะต้องสอบวิชาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ขณะที่สายวิทยาศาสตร์จะต้องสอบวิชาฟิสิกส์ เคมี และชีวะวิทยา
การสอบเกาเข่าจะมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น และแน่นอนว่าในการสอบทุกครั้งย่อมไม่ได้เป็นดังหวังสำหรับทุกคน เพราะฉะนั้นจึงมีนักเรียนจีนจำนวนเกือบ 3 ล้านคนที่สอบตกในแต่ละปี
สำนักข่าว BBC มีการสัมภาษณ์เศรษฐีชาวจีนที่เคยสอบเกาเข่าไปแล้ว 26 ครั้ง และ CNN ทำการสัมภาษณ์ผู้เข้าสอบเกาเข่าที่เริ่มสอบตั้งแต่ปี 2010 โดยเขาเล่าว่าในแต่ละวันเขาจะออกจากบ้าน 8 โมง เพื่อไปติวที่บ้านเพื่อนทั้งวันจนดึก ทีแรกเขาเลือกที่จะเข้ามหาวิทยาลัยเสฉวน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาจำเป็นต้องลดความฝันตัวเอง กลายเป็นว่าเขาขอเรียนที่ไหนก็ได้ขอให้มหาลัยเลือกเขาก็พอ นอกจากนี้ ยังมี YouTube ช่อง Just Pai Tiew – ก็แค่ไปเที่ยว มีการสัมภาษณ์นักศึกษาจีนในไทยสองคน โดยเธออธิบายว่าการแข่งขันในจีนสูงมาก ชีวิตประจำวันคือการเรียนตลอดเวลา แม้แต่เข้าห้องน้ำหรือทานข้าว ก็ต้องรีบวิ่งไปทำเพื่อรักษาเวลาในการติวหนังสือ
ทางรอดของนักเรียนจีน
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ทำให้ชาวจีนมองหาตัวเลือกสำหรับตัวเองที่พอเป็นไปได้ เป็นสาเหตุทำให้ชาวจีนพยายามหาโอกาสในต่างแดน ใครที่ไม่สามารถยื่นคะแนนเข้ามหาวิทยาลัยในจีนได้ก็จะเดินทางไปศึกษามหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยหนึ่งในประเทศเหล่านั้นก็คือ ประเทศไทย ด้วยเหตุผลหลักคือ การเข้าเรียนที่ง่าย ค่าเทอมที่ใกล้เคียงกัน เดินทางง่าย (เทียบกับระยะทางแล้วจากหยุนหนานไปไทยนั้นใกล้กว่าหยุนหนานเดินทางไปปักกิ่ง) แถมมีช่องทางในการทำงานในอนาคตและค่าตอบแทนดี
มหาวิทยาลัยจีนมีค่าใช้จ่ายประมาณที่ 109,800-332,000 บาทต่อปี โดยขึ้นอยู่กับสาขาวิชาที่เลือกเรียน หากเป็นเอกชนอาจพุ่งถึง 1,000,000 ต่อปี โดยมหาวิทยาลัยไทย ถ้าเป็นเอกชนทั่วไปเฉลี่ยหนึ่งปีอยู่ที่ 70,000-100,000 บาท ถือว่าค่อนข้างถูกเลยทีเดียวสำหรับชาวจีน แต่เรื่องค่าใช้จ่ายอาจไม่ใช่อุปสรรคหลักสำหรับพวกเขาในการเลือกว่าจะเรียนในไทยหรือไม่ ดูเหมือนสิ่งที่ดูเชื้อเชิญมากกว่าคือขั้นตอนในการเข้ารับการศึกษาในไทยที่ไม่จำเป็นต้องมีพิธีรีตองอะไรมากนัก
สำนักข่าวอิศราทำการสำรวจ พบว่านักศึกษาจีนส่วนใหญ่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนในไทย (จำนวน 15,785 เมื่อปี 2565) มากกว่ามหาวิทยาลัยรัฐ เนื่องจากขั้นตอนการเข้ามหาวิทยาลัยรัฐในไทยมีความยุ่งยากกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน ทว่ามีปัญหาอยู่เช่นกันคือ ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยเอกชนในไทยมักไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศจีน ซึ่งกว่าจะถึงขั้นตอนยื่นใบสมัครให้กับบริษัทในประเทศของตัวเอง พวกเขาต้องยื่นเอกสารเพื่อรับการรับรองจากกระทรวงการศึกษาของจีนเสียก่อน นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวจีนหลายคนเลือกที่จะปักหลักลงฐานทำงานในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีพื้นที่รองรับการทำงานมากกว่าในจีน อย่างตอนนี้มีบริษัทจีนหลายแห่งทยอยเปิดในไทย และต้องการพนักงานที่เป็นชาวจีนด้วยกัน ซึ่งเพิ่มโอกาสในการขอใบอนุญาตทำงานได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีอาชีพยอดฮิตอย่าง การแปลภาษา ล่าม หรือผู้ช่วยในการเจรจาธุรกิจ บางคนที่เดินทางมาศึกษาปริญญาโทถือโอกาสพาครอบครัวมาอยู่ด้วย บางคนทำงานในประเทศไทยและกลับไปเยี่ยมครอบครัวทุกปี
Voice TV ได้สัมภาษณ์ จาง หลี่เหวิน นักศึกษาสาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เกี่ยวกับสาเหตุที่เลือกมาเรียนที่ไทย เธอกล่าวว่า เธอต้องการจะทำธุรกิจกับคนไทย เพราะคาดว่าในอนาคตการค้าระหว่างไทยกับจีนจะเพิ่มมากขึ้นกว่าในปัจจุบันและประเทศไทยยังเป็นตลาดท่องเที่ยวที่คนจีนต้องการมาเยือนมากที่สุด และยังมี เหยียน หลี่เกอ ซึ่งเป็นนักศึกษาสาขาเดียวกันกับจาง กล่าวในทำนองเดียวกันว่าที่เธอมาเรียนที่ไทย เกิดจากครอบครัวบังคับให้มาเรียนภาษาไทย เพราะเป็นประโยชน์ต่ออาชีพการงานของเธอในอนาคต
นอกจากนี้ ทีมงานไทยอารยะยังได้ทำงานสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาชาวจีนในไทยผ่านแอปพลิเคชันหาเพื่อนออนไลน์ จำนวน 10 คน ที่มีอายุระหว่าง 20 – 24 ปี เกือบทั้งหมดกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าการเข้าศึกษาในไทยนั้นมีความง่าย รวมถึงการเรียนนั้นยังง่ายกว่าและมีความเคร่งเครียดน้อยกว่าที่ประเทศจีนอีกด้วย ส่วนในเรื่องของการทำงานนั้น พวกเขาให้ความเห็นว่าสายงานในไทยมีมากกว่าในจีน ถ้าใครพูดภาษาจีนและอังกฤษได้ ทุกบริษัทจะรับเข้าทำงาน และโดยส่วนใหญ่กล่าวในทำนองเดียวกันว่าหากมีโอกาสได้แต่งงานกับคนไทย อาจมีแววเปิดธุรกิจเป็นของตัวเองในไทย
อนาคตตลาดแรงงาน
เมื่อเรามองไปไกลกว่าเรื่องการศึกษาและพิจารณาเรื่องการจ้างงานของเด็กจบใหม่ เราจะพบว่านักเรียนจีนก็ประสบปัญหาเรื่องการจ้างงานหนักไม่แพ้กัน
BTimes รายงานข่าวในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ในปี 2024 เด็กจีนมีโอกาสได้รับการจ้างงานในบริษัทเอกชนต่ำลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อประกอบกับการที่หลายบริษัทมีการปลดพนักงานออกไปหลายพันคนในระหว่างปี 2019-2023 ทำให้ผลสำรวจชี้ชัดว่า เด็กจีนมีแนวโน้มหันเหไปทำงานราชการมากขึ้นเพราะมีความมั่นคงมากกว่า โดย TNN รายงานผลสำรวจว่า ในปี 2024 จีนมีผู้สมัครสอบข้าราชการพลเรือนมากกว่า 2.12 ล้าน คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาจากจำนวน 125,000 คน ในปี 2003 หรือเพิ่มขึ้นมา 16 เท่าภายในระยะเวลายี่สิบปี
แต่ถึงแม้บัณฑิตจบใหม่ของจีนจะมีแนวโน้มหันมาทำงานข้าราชการกันมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเส้นทางข้าราชการจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ เพราะการสมัครเข้าทำงานราชการในจีนนั้นก็มีการแข่งขันสูงไม่แพ้กันโดยนักศึกษาจบใหม่ในจีนต้องแย่งตำแหน่งงานข้าราชการ 31,200 ตำแหน่งในหน่วยงานรัฐบาลกลาง 75 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 23 แห่ง หรือมีโอกาสเพียง 1 ใน 68 ที่จะได้งานข้าราชการ
นี่จึงเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักศึกษาจีนหลายๆ คนเลือกเดินทางออกมาจากประเทศจีนเพื่อเข้ามาศึกษาต่อและหาโอกาสในอนาคตในประเทศไทย
วิทยาลัยเพื่อคนจีน โดยคนจีน บนแผ่นดินไทย
ที่น่าจับตามอง คือ เริ่มมีนายทุนจากประเทศจีนเล็งเห็นกำไรในธุรกิจการศึกษาในไทย และได้ทำการกว้านซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยที่มีปัญหาทางการเงิน เพื่อเปิดวิชาหลักสูตรภาษาจีน รวมถึงวิชาบริหารธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ขึ้นชื่อเรื่องหลักสูตรบริหารธุรกิจ ปัจจุบันบอร์ดบริหารเป็นคนจีนไปแล้ว 49 เปอร์เซ็นต์ และมีจำนวนนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ในปีการศึกษา 2565 มีนักศึกษาต่างชาติราว 2,283 คน โดยเพิ่มขึ้นประมาณสามเท่าตัวภายในสามปี) ซึ่งเบื้องหลังผู้ถือนายหุ้นใหญ่คือ นายหวัง ฉางหมิง กับบริษัทหมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น นอกจากนี้ยังมี บริษัท ไชน่า หยู่ฮว๋า เอ็ดดูเคชั่น อินเวสเมนท์ เดินหน้าซื้อมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดอีกด้วย
อนาคตประเทศไทย
การทะลักเข้ามาของนักศึกษาจีนก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ มากมายให้กับชาวจีน ทั้งอนาคตทางการศึกษา โอกาสในการหางานทำต่อในต่างแดน หรือแม้กระทั่งโอกาสทางธุรกิจการศึกษาสำหรับนายทุนจีน แต่ในเรื่องราวนี้ เรากลับไม่เห็นภาพของนักศึกษาหรือบัณฑิตจบใหม่ชาวไทยเลย
ข้อมูลล่าสุดปี 2567 พบว่าคนไทยว่างงานถึง 4.1 แสนคน โดยกลุ่มบัณฑิตจบใหม่นั้นยังเป็นกลุ่มประชากรที่มีอัตราว่างงานสูงที่สุด สะท้อนว่าการศึกษาและตลาดแรงงานไทยก็มีปัญหาที่คล้ายคลึงกับประเทศจีน แต่ในกรณีของประเทศไทยยังไม่มีความรุนแรงเท่า
ทั้งหมดนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อบัณฑิตจบใหม่ของไทยต้องแข่งขันกับนักศึกษาจีนที่มีความสามารถทั้งสามภาษา (ไทย จีน อังกฤษ) ในขณะที่นักศึกษาไทยเองนั้นมีทักษะภาษาอังกฤษต่ำรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน (อันดับ 8 ในกลุ่มอาเซียน อันดับที่ 101 จาก 113 ประเทศ จากการสำรวจของ EF English Proficiency Index ปี 2023 ) ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ การเข้ามาของนักศึกษาชาวจีนทำให้การแข่งขันในตลาดงานไทยสูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า อัตราการว่างงานของประชากรไทยกลุ่มบัณฑิตจบใหม่จะเพิ่มสูงขึ้น และไม่พ้นต้องเผชิญกับปัญหาความกดดันและการแข่งขันในตลาดแรงงานที่รุนแรงขึ้นไม่ต่างจากประเทศจีนในปัจจุบัน
การไหลทะลักของนักศึกษาชาวจีนเพื่อเข้ามาศึกษาและหางานทำในประเทศไทย เป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนจีนรุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญปัญหาความกดดันจากการแข่งขันภายในประเทศ แต่สำหรับชาวไทยโดยเฉพาะนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่แล้ว การเข้ามาของนักศึกษาจีนอาจหมายถึงคลื่นการแข่งขันระลอกใหม่ที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาการว่างงานที่มีอยู่แล้ว ในกรณีนี้ ประเทศไทยเปรียบเสมือนแผ่นดินทวีปใหม่อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยโอกาสทางการศึกษา การงาน และธุรกิจ คล้ายกับยุคสมัยที่ชาวยุโรปเริ่มเข้าไปตั้งรกรากถิ่นฐานในทวีปอเมริกา เพียงแต่ว่าในครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือประชากรจีน โดยนักศึกษาและบัณฑิตไทยเป็นเพียงชาวพื้นเมืองที่ถูกแย่งชิงพื้นที่เท่านั้น
อ้างอิง
🕮 Fan Wang, BBC News. Chinese millionaire fails 27th attempt at passing university exams.
🕮 Voice TV. ทำไมเด็กจีนฮิตเดินทางมาเรียนเมืองไทย?
🕮 เพ็ญพิชชา มุ่งงาม, The 101 World. อุดมศึกษาไทยในวันที่มหาวิทยาลัยอยู่ในเงาทุนจีน
🕮 สำนักข่าวอิศรา. 10 ปี จีนอันดับหนึ่ง! ส่องสถิติ น.ศ.ต่างชาติในไทยปี 55-65 เมียนมาครองเบอร์สอง.
🕮 ผู้จัดการออนไลน์. เด็กจีนแห่เข้าเรียนมหา’ลัยเอกชนไทย 80% จบเลือกทำงานเมืองไทย.
🕮 พัชรี จันทร์แรม, TNN. อาชีพในฝันของคนจีนรุ่นใหม่
🕮 อินไซต์เศรษฐกิจ. คนไทยว่างงานแตะ 4.1 แสนคน เด็กจบใหม่ที่ยังคงเผชิญกับอัตราการว่างงานสูง.